Photo by Nick Fewings on Unsplash
เครื่องรีไซเคิลขวด PET (ReFun Machine)
นวัตกรรมจากความร่วมมือสู่การสร้าง Circular Economy
ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเล็งเห็นถึงความสำคัญและพยายามแก้ไข สำหรับประเทศไทย การใช้พลาสติกในประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่อัตราประมาณร้อยละ 12 ต่อปี หรือประมาณ 2 ล้านตัน โดยรายงานจากธนาคารโลกชี้ว่าคนไทยสร้างขยะพลาสติกถึงปีละประมาณ 70 กิโลกรัมต่อคนต่อปี สูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก อีกทั้งประเทศไทยยังติดอันดับ 8 ของผู้ปล่อยมลพิษสู่มหาสมุทรของโลกด้วย
สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้มีนโยบายการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมาตั้งแต่ ปี 2561 และประสบความสำเร็จด้วยความร่วมมือของประชาคม มจธ. เช่น เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ทั้งนี้ในปี 2564 ได้มีนโยบายยกเลิกการใช้พลาสติกเพิ่มอีก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนตามเป้าหมายของ SDGs 2030 รวมทั้งเพื่อก่อให้เกิดสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของประชาคม มจธ. สนับสนุนตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ แผนการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2563 - 2565 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งดำเนินการ ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
สำหรับแนวคิดเรื่อง “Circular Economy” หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และของเสีย ให้สามารถนำกลับไปใช้หมุนเวียนอยู่ในระบบได้ยาวนานที่สุด หรือจนหมดอายุการใช้งานที่แท้จริง Circular Economy จึงไม่ได้เป็นเพียงการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มต้นจากการออกแบบที่ทำให้กระบวนการผลิตประหยัดทรัพยากรให้มากที่สุด ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้คุ้มค่าที่สุด หรือทำให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ให้มากที่สุด โดยต้องอาศัยการคัดแยกจัดเก็บอย่างเป็นระบบจากผู้ใช้งาน
เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา มจธ. โดยกลุ่มงานสิ่งเสริมกิจกรรมอย่างยั่งยืน ศูนย์ EESH ได้ร่วมกับ CP All และ SUNTORY PEPSICO ได้จัดตั้งตู้ "Refun" รีไซเคิลขวดพลาสติก และเริ่มทดลองใช้ภายในมหาวิทยาลัยที่หอพักธรรมรักษา 1 (หอพักหญิง) บริเวณหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดย Highlight ของตู้นี้ก็คือ
- สามารถนำขวดน้ำมาใส่ แบบไม่ต้องแกะฉลาก (เพราะเครื่องจะอ่านฉลากเพื่อดูว่าเป็นขวดอะไร)
- เครื่องจะดึงเอาขวดไปทำการรีไซเคิล โดยสิ่งที่เราจะได้คือใบเสร็จคูปองสำหรับเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขานั้น ๆ ตามรายละเอียดและระยะเวลาที่กำหนด หรือเก็บสะสมแต้มในรูปแบบต่างๆ
- ขวดที่นำไปจะถูกนำไปแปรรูปเป็นถังขยะส่งมอบให้กับมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าระบบกำจัดที่ถูกต้อง ทั้งนี้ขวดพลาสติกที่รับคืนจะเข้าสู่กระบวนการ Recycle
เครื่องรีไซเคิลขวด PET (ReFun Machine) คือเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องง่ายขึ้น สนุกมากขึ้นด้วยการ เปลี่ยนขยะเป็นเงินที่มีช่องทางให้เลือกรับได้อย่างทันสมัย ชัดเจน ที่สำคัญคือเป็นจุดเริ่มต้นของการบริโภคที่ยั่งยืน ที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำจัดและแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมที่ยั่งยืน
Categories
Hashtags